เบาหวานกับความเชื่อผิดๆ

ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับโรคเบาหวาน

ความเชื่อ1: รับประทานอาหารที่มีน้ำตาลสูงทำให้เป็นเบาหวาน

ความจริง: โรคเบาหวานมี 2 ชนิดคือ เบาหวานประเภทที่1 (Diabetes Type1) เกิดจากสาเหตุพันธุกรรมและยังไม่ทราบปัจจัยแน่ชัดทำให้ตับอ่อนไม่สามารถสร้างอินซูลินได้ เบาหวานประเภทที่ 2 (Diabetes Type2) เกิดจากสาเหตุทางพันธุกรรมและพฤติกรรมการใช้ชีวิต มีผลให้การสร้างอินซูลินไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย หรือร่างกายดื้อต่ออินซูลิน การรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลสูงเป็นเวลานานก็เป็นปัจจัยส่งเสริมให้เป็นเบาหวานได้ หากร่างกายไม่สามารถผลิตอินซูลินออกมาเพียงพอ นอกจากนี้อาหารที่มีไขมันอิ่มตัวมีผลต่อการออกฤทธิของอินซูลิน ทำให้การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดีก็ควรหลีกเลี่ยง

ความเชื่อ2: เบาหวานเป็นโรคของคนแก่

ความจริง: โรคเบาหวานสามารถเกิดได้กับคนทุกช่วงอายุ ขึ้นอยู่กับสาเหตุและปัจจัยส่งเสริมให้เกิดโรคเบาหวาน เบาหวานประเภทที่ 1 ส่วนใหญ่มักเกิดในเด็ก หรือคนอายุน้อย ส่วนเบาหวานประเภทที่ 2 ส่วนใหญ่มักเกิดในคนอายุ 45 ปีขึ้นไป แต่ปัจจุบันเริ่มพบคนเป็นเบาหวานประเภทที่ 2 อายุน้อยลง

ความเชื่อ3: คนที่เป็นเบาหวานจะรู้ตัวหากมีน้ำตาลในเลือดต่ำ

ความจริง: อาการของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ คือวิงเวียนศีรษะ อ่อนเพลีย ตัวเย็น เหงื่อออก อาการใจสั่น หัวใจเต้นแรง ปากแห้ง ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีอาการเมื่อมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ หรือ อาการแต่ละบุคคลอาจแตกต่างกัน จึงควรตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเมื่อมีอาการหรือสงสัยว่ามีน้ำตาลในเลือดต่ำ และรีบแก้ไขทันที เพราะภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ มีผลให้เกิดภาวะช็อค หรือเสียชีวิตได้

ความเชื่อ4: เบาหวานเป็นโรคไม่น่ากลัว ใครๆก็เป็นกัน

ความจริง: เบาหวานเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของคนไทยปีละประมาณ 20,000 คน นอกจากนี้เบาหวานเกี่ยวข้องกับการเป็นโรคอื่นๆ เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ และพบว่าคนที่เป็นโรคหัวใจและเป็นเบาหวานร่วมด้วย มีความเสี่ยงเกิดอาการหัวใจวายหรือกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันมากกว่าเกือบสองเท่าของคนที่ไม่เป็นเบาหวานร่วมด้วย นอกจากนี้ หากการควบคุมเบาหวานไม่ดี ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ เช่นตาบอด ผิวหนังอักเสบติดเชื้อ เซลล์ประสาทถูกทำลาย

ความเชื่อ5: เป็นเบาหวานห้ามกินขนมหวาน หรืออาหารที่มีความหวาน

ความจริง: เพราะภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเป็นผลให้เกิดเบาหวาน คนส่วนใหญ่จึงคิดว่าควรงดอาหารที่มีความหวาน หรือมีน้ำตาล แต่อย่างไรก็ตาม หากรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ในสัดส่วนที่เหมาะสม ร่วมกับการออกกำลังกาย การรับประทานผลไม้ หรือขนมหวานก็ยังสามารถรับประทานได้แต่ไม่ควรมากเกินไป

ความเชื่อ6: เป็นเบาหวานห้ามให้เลือด

ความจริง: เป็นเบาหวานสามารถให้เลือดได้ ถ้าการควบคุมระดับน้ำตาลอยู่ในเกณฑ์ปกติ และไม่มีภาวะแทรกซ้อนของเบาหวาน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ผู้รับบริจาคโลหิตอีกครั้ง

ความเชื่อ7: เบาหวานเป็นโรคของคนอ้วน

ความจริง: ไม่ว่าคนอ้วนหรือคนผอมก็สามารถเป็นเบาหวานได้ เพราะเบาหวานเกิดจากหลายสาเหตุทั้งจากพันธุกรรม พฤติกรรมการใช้ชีวิต รับประทานอาหารมีแคลอรี่สูง น้ำตาลสูง และไม่ออกกำลังกาย ความเครียด นอนพักผ่อนไม่เพียงพอ ปัจจัยเหล่านี้สามารถส่งผลให้เกิดเบาหวานได้แต่พบว่าคนอ้วนเป็นเบาหวานมากกว่า เนื่องจากพฤติกรรมการกิน และการวิจัยพบว่าในคนอ้วนส่วนใหญ่ระดับการผลิตอินซูลินปกติ หรือมากกว่าปกติ แต่เซลล์ในร่างกายมีผลดื้อต่ออินซูลิน

ความเชื่อ8: ในครอบครัวไม่มีใครเป็นโรคเบาหวาน เพราะฉนั้นเราจะไม่เป็นเบาหวาน

ความจริง: ปัจจัยทางพันธุกรรมเป็นหนึ่งในหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดเบาหวานประเภทที่ 2 ถึงแม้ว่าไม่มีคนในครอบครัวเป็นเบาหวาน แต่เราก็สามารถเป็นได้หากใช้พฤติกรรมไม่เหมาะสม

ความเชื่อ9: ถ้าเป็นเบาหวานต้องฉีดอินซูลิน แสดงว่าอาการแย่แล้ว

ความจริง: การรักษาโรคเบาหวาน มีเป้าหมายควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน กรณีที่ควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย ใช้ยารับประทานแล้วยังไม่สามรถคุมระดับน้ำตาลได้ จึงจำเป็นต้องใช้ยาฉีดอินซูลินร่วมด้วย

ความเชื่อ10: เป็นเบาหวานต้องรักษาด้วยอินซูลิน

ความจริง: การรักษาเบาหวานประเภทที่ 2 สามารถป้องกัน ควนคุมโรคได้ด้วย การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ถูกสัดส่วน การออกกำลังกาย และรับประทานยาร่วมด้วยแต่หากยังไม่สามรถควบคุมระดับน้ำตาลได้ตามเกณฑ์ จึงมีการใช้อินซูลินร่วมด้วย ส่วนเบาหวานประเภทที่ 1 เนื่องจากสาเหตุของพันธุกรรม ระบบภูมิคุ้มกัน มีผลให้ไม่สามารถผลิตอินซูลินได้ จึงต้องรักษาโดยการให้อินซูลินเป็นหลัก

กินผักแล้วดีต่อสุขภาพ

5 ผักไดเอท ลดพุง สลายไขมันหน้าท้อง

WE FITNESS SOCIETY มาเนะนำการกินพืชผักบางชนิดที่มีสรรพคุณช่วยสลายไขมันจึงเป็นทางออกที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ส่วนผักสลายไขมัน ลดการเกินโรคร้ายได้มีอะไรบ้าง ไปดูกันเลย

•มะเขือเทศ

มะเขือเทศ หลายคนคงรู้ดีว่าสารไลโคปีนในมะเขือเทศเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ดีมาก สามารถลดระดับของคอเลสเตอรอล ลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด กระตุ้นการเผาผลาญ ทำให้ระบบไหลเวียนเลือดดีขึ้น

• กระเทียม

มีสรรพคุณช่วยลดคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ เพิ่มไขมันชนิดดีให้สูงขึ้น โดยสารที่ชื่อว่าอัลลิซิน นอกจากเป็นผักสมุนไพรช่วยสลายไขมันในเลือดได้ยังช่วยลดความดันโลหิต ป้องกันโรคหัวใจ

• ขิงเเละข่า

ในการศึกษาถึงฤทธิ์ทางยาของขิงพบว่า สามารถลดระดับไขมันคอเลสเตอรอลและไขมันไตรกลีเซอไรด์ ป้องกันการอุดตันของหลอดเลือด ช่วยควบคุมระดับของไขมันได้ดี

• ผักกาดหอม

รวมถึงผักโขม กะหล่ำปลี บรอกโคลี ผักเคล หรือผักใบเขียวทั้งหลาย อุดมด้วยวิตามินและแร่ธาตุ ปริมาณเส้นใยอาหารสูงซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยขับไขมันออกจากร่างกาย ทำให้น้ำหนักลดลงได้จริง

• พริก

จริงๆ แล้วด๊อกเตอร์ออซแนะนำเมนู Pico de Gallo ที่เป็นเมนูเม็กซิกัน แต่ส่วนประกอบสำคัญของเมนูนี้ คือมะเขือเทศ หอม พริก มะนาว ผักชี และเครื่องปรุงอื่นๆ เช่น เกลือ พริกไทย ฯลฯ แต่เราขอแนะนำเป็นพริกแทนดีกว่า เพราะสำหรับชาวไทยแล้ว พริกเป็นอะไรที่คุ้นเคยกับลิ้นของพวกเรามาก โดยเฉพาะพริกขี้หนู พริกชี้ฟ้า รวมไปถึงพริกฝรั่งอย่างพริกหยวก คงไม่ต้องบอกว่าเราจะปรุงพริกทานกันยังไง เพียงแต่ใครที่หมอสั่งห้ามทานอาหารรสจัด ก็เพลาๆ มือหน่อยเท่านั้นค่ะ

ว่าแล้วก็เข้าครัวทำอาหารทานกันเลยดีกว่า ใช้ส่วนผสมเหล่านี้ได้หมดทั้งอาหารคาว อาหารหวาน ทานตามนี้แล้วก็อย่าลืมออกกำลังกายกันด้วยค่ะ

ออกกำลังกายผิดวิธี ทำร้ายกระดูก

          กระดูกเป็นส่วนที่สำคัญของร่างกายที่มีความแข็งแรงรองรับสรีระของร่างกายในการทรงตัว และทำกิจกรรมเคลื่อนไหวต่างๆ แต่หากขาดการดูแลเอาใจใส่ก็สามารถที่จะประสบกับภาวะเปราะบางนำมาซึ่งโรคมวลกระดูกเสื่อม หรือโรคกระดูกพรุน กลายเป็นภัยเงียบที่เราทุกคนคาดไม่ถึงได้เหมือนกัน


เสริมความแข็งแรง… ให้กระดูกและกล้ามเนื้อ

  • การออกกำลังกายเป็นปัจจัยสำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกและกล้ามเนื้อแต่การออกกำลังกายแบบไหนที่เหมาะสมกับเราที่สุด ที่จะไม่ทำให้กระดูกของเราสึกหรอ หรือบาดเจ็บ ซึ่งจริง ๆ แล้วการออกกำลังกายนั้นมีหลายรูปแบบด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ ที่เน้นพัฒนาระบบไหลเวียนหัวใจและปอด resistance exercise การออกกำลังกายที่เน้นเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เช่น การยกน้ำหนักหรือเล่นเวท flexibility exercise การออกกำลังกายที่เน้นความยืดหยุ่นของร่างกาย เช่น โยคะ พิลาทิส แต่การออกกำลังกายแบบ weight-bearing exercise หรือการออกกำลังกายแบบลงน้ำหนักเช่น รํามวยจีน เต้นรํา วิ่งเหยาะๆ ที่เน้นการเคลื่อนไหวช้า ๆ แต่ลงน้ำหนักนั้น จะช่วยป้องกันการสูญเสียกระดูกได้ดีที่สุด เหมาะกับคนที่ต้องการดูแลกระดูกให้แข็งแรงและลดความเสี่ยงของโรคกระดูกเสื่อมเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งยังทําให้กล้ามเนื้อและระบบไหลเวียนโลหิตทำงานได้ดีขึ้นอีกด้วย

ออกกำลังกายแบบลงน้ำหนัก… ตัวช่วยอัพความแข็งแรงของกระดูก

  • การเดิน เป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย และมีการศึกษายืนยันถึงประโยชน์ การเดินออกกำลังกายบนสายพานก็สามารถเพิ่มมวลกระดูกได้เช่นกัน
    การวิ่งเหยาะ ไม่เหมาะสำหรับผู้ที่มีข้อเข่าหรือข้อสะโพกเสื่อม เนื่องจากมีน้ำหนักตกลงที่ข้อเข่า/ข้อสะโพกมากกว่าการเดิน 1-2 เท่า
    การรำมวยจีนช่วยลดการสูญเสียของมวลกระดูก ช่วยเพิ่มการทรงตัวและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อขาส่วนหน้า และช่วยลดอาการปวดเข่าในผู้ป่วยเข่าเสื่อมได้อีกด้วย
    การยกน้ำหนักจะช่วยเพิ่มมวลกระดูกและความแข็งแรงเฉพาะส่วน แนะนำให้ออกกำลังกายด้วยการยกน้ำหนักแขน เพื่อให้น้ำหนักผ่านข้อมือ กระดูกสันหลัง รวมไปถึงกระดูกสะโพก

นอกจากนี้การรับประทานอาหารที่อุดมด้วยแคลเซียมและวิตามินดีอย่างเพียงพอ พร้อมด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ก็เป็นหัวใจสำคัญของการมีสุขภาพกระดูกที่แข็งแรง ห่างไกลโรคภัยไข้เจ็บด้วยเช่นกัน